ออมสิน รับใน “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของ UNEP FI - Thailand Smart Content

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, December 22, 2020

ออมสิน รับใน “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของ UNEP FI









ออมสิน รับใน “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของ UNEP FI

ธนาคารออมสิน ย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ลงนามรับใน “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน หรือ UNEP Finance Initiative : UNEP FI ถือเป็นแบงก์รัฐแห่งแรก ที่ร่วมรับหลักการ เพื่อยกระดับการดำเนินการเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลของธนาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 ด้านหลัก คือ ลดความยากจน และ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม






นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะความเสียหายต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสในองค์กร ส่งผลให้โลกได้หันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว







ธนาคารออมสินตระหนักถึงการมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social and Governance : ESG) เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก “สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน หรือ UNEP Finance Initiative (UNEP FI)” เพื่อเข้าร่วมรับใน “หลักการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” หรือ “Principles for Responsible Banking (PRB)” โดยถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกของไทยที่เข้าร่วมสนับสนุนหลักการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 6 หลักการ คือ

1. การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Alignment)

2. การกำหนดเป้าหมายที่เพิ่มผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบ (Impact & Target Setting)

3. การให้บริการลูกค้าด้วยความรับผิดชอบ (Clients & Customers)

4. การร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียด้วยความรับผิดชอบ (Stakeholders)

5. การมีธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรมการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (Governance & Culture)

6. เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability)






ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้วางเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank อย่างเต็มรูปแบบ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal หรือ SDGs) 2 ด้านหลัก คือ ด้านที่ 1ลดความยากจน และด้านที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม ตามแนวคิด “Making POSITIVE Impact on Society” โดยจะดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนภายใต้ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม สนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนอย่างครบวงจร และส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะทางการเงิน เพื่อที่จะยกระดับรายได้ของประชาชนและต่อยอดการเจริญเติบโตให้กับผู้ประกอบการรายย่อย อันเป็นภารกิจสำคัญที่ธนาคารฯ มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลกลุ่มลูกค้านี้อย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน

นายวิทัย กล่าวในตอนท้ายว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก UNEP FI และการยึดมั่นต่อ “หลักการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (PRB)” ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนของธนาคารออมสินในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ในฐานะสถาบันการเงินที่เติบโตเคียงข้างประชาชน และประเทศชาติ ที่สืบทอดปณิธานที่มีมาตลอดระยะเวลา 107 ปี โดยธนาคารจะปรับภารกิจและกระบวนการทุกด้านให้สอดคล้องกับการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น การร่วมลงทุนในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมถึงการร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมประสบความสำเร็จในการประกอบการ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การทำภารกิจเชิงพาณิชย์จะเป็นกิจการรองเพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาสนับสนุนภารกิจด้านสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพมากกว่าการเติบโตด้วยปริมาณ ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน.




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad




Pages