กสอ. ฟันธงปี 64 เป็นปีแห่ง “เอสเอมอี ดิสรับชั่น” เตรียมหนุน 3 นโยบายเร่งด่วน กระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้าน - Thailand Smart Content

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, December 17, 2020

กสอ. ฟันธงปี 64 เป็นปีแห่ง “เอสเอมอี ดิสรับชั่น” เตรียมหนุน 3 นโยบายเร่งด่วน กระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้าน









กสอ. ฟันธงปี 64 เป็นปีแห่ง “เอสเอมอี ดิสรับชั่น” เตรียมหนุน 3 นโยบายเร่งด่วน



กระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้าน









กรุงเทพฯ 17 ธันวาคม 2563 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ชี้นโยบายเร่งด่วนปี 2564 มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งอุตสาหกรรมไทย ผ่านปัจจัย 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะเร่งด่วน เครื่องมือเร่งด่วน และ อุตสาหกรรมเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฝ่าคลื่นปฏิวัติเอสเอ็มอี หรือ SMEs Disruption ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าว กสอ. เตรียมปรับบทบาทเป็นโค้ชชิ่ง ให้คำแนะนำเชิงลึกกับผู้ประกอบการ เปลี่ยนบทบาทมุ่งเน้นการส่งเสริมในเชิงรุกเป็นผู้ปั้นปรุงเปลี่ยนเอสเอ็มอีให้ดีพร้อม หรือ เอสเอ็มอีดิสรับเตอร์ เพื่อให้เกิดการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างทันท่วงที และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยตั้งเป้าส่งเสริมไม่ต่ำกว่า 3,356 กิจการ ด้วยงบประมาณดำเนินการกว่า 500 ล้านบาท และคาดสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท






นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โควิด-19 ถือเป็นปัจจัยทั้งทางบวกและทางลบที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั่วโลกและเกิดคลื่นปฏิวัติเอสเอ็มอี หรือ SMEs Disruption ในปี 64 ที่สำคัญ ที่รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องได้รับการสนับสนุน ประกอบการการดำเนินงานของ กสอ. ในปี 2563 ผ่านนโยบาย ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม พบว่ายังต้องยกระดับการส่งเสริมให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กสอ. จึงกำหนดนโยบายการดำเนินงานในปี 2564 เร่งด่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่าน นโยบาย “สติ : STI” ประกอบด้วย 3 ปัจจัยเร่งด่วนสำคัญ ได้แก่ 





· ทักษะเร่งด่วน หรือ Skill ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยตลอดการดำเนินงานในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่าเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัว ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบธุรกิจ แบ่งออกเป็น 3 ทักษะที่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ประกอบด้วย ทักษะวิชาตัวเบา (Lean) ผ่านการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถดำเนินการกิจได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาต่อยอดทักษะเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง ทักษะการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการปรับใช้ในกระบวนการต่าง ๆ และทักษะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรม โดย กสอ. จะขยายผลศูนย์ Mini Thai-IDC ไปยังภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ในระดับท้องถิ่นไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ






· เครื่องมือเร่งด่วน หรือ Tools ที่จะเป็นตัวช่วยเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบไปด้วย แพลตฟอร์มออนไลน์ (DIProm มาร์เก็ตเพลส) รวบรวมผลิตภัณฑ์คุณภาพจากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ. เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า ทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค นิเวศอุตสาหกรรม โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ประกอบการทั้งมิติเชิงอุตสาหกรรมและพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือ ต่อยอดองค์ความรู้ และการยกระดับอุตสาหกรรม เงินทุนเพื่อการประกอบการ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการประกอบกิจการ อาทิ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย การสนันสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้งในกำกับของรัฐ และเอกชน รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาพเอกชน เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับการดำเนินธุรกิจและก่อให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจได้ในอนาคต

· อุตสาหกรรมเร่งด่วน หรือ Industry ที่มุ่งเน้นคือเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจากข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มูลการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2563อยู่ที่ 243,855 ล้านบาท ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการสนับสนุนในระยะเวลาเร่งด่วน เพื่อให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการยกระดับศักยภาพในภาคการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป การพัฒนานักธุรกิจเกษตร และการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพรวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจสู่กระบวนการผลิตที่มีมูลค่าสูงต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการส่งเสริมวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของผู้บริโภค


สำหรับการดำเนินงานในปี 2563 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการที่ดำเนินการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการไปแล้ว จำนวน 1,731 กิจการ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการในปี 2564 กสอ. จะปรับวิธีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จากเดิมที่ทำหน้าที่โค้ชชิ่ง ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ เปลี่ยนบทบาทมามุ่งเน้นการส่งเสริมในเชิงรุก โดยการเป็นผู้ปั้นปรุงเปลี่ยนเอสเอ็มอีให้ดีพร้อม หรือ เอสเอ็มอีดิสรับเตอร์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างทันท่วงที โดยตั้งเป้าหมาย ส่งเสริมผู้ประกอบการทั่วประเทศ 3,356 กิจการ พัฒนาทักษะกับบุคลลากรในภาคอุตสาหกรรม 13,375 คน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 177 กลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มขึ้น 982 ผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในไทยให้มีความเข้มแข็ง ด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad




Pages