KBank PRIVATE BANKING VIRTUAL PRESS CONFERENCE “2021: FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES?” - Thailand Smart Content

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, January 27, 2021

KBank PRIVATE BANKING VIRTUAL PRESS CONFERENCE “2021: FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES?”












สรุปประเด็นสำคัญ จากงาน KBank PRIVATE BANKING VIRTUAL PRESS CONFERENCE



“2021: FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES?”



วันพุธที่ 27 มกราคม 2564



ภาพรวม โดย คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย






KBank Private Banking ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ Lombard Odier ผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ระดับโลกและดำเนินงานมามากกว่า 224 ปี จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “2021: Facing Change or More Challenges?” เพื่อเจาะลึกทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแนะนำโอกาสการลงทุน โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลก โดยนอกเหนือจากวิทยากรระดับโลกแล้ว ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และอดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส World Bank ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงจากวงการเศรษฐศาสตร์และธุรกิจในประเทศไทย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย



แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Outlook) โดย คุณศิริพร สุวรรณการ Managing Director - Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย



Lombard Odier และ KBank Private Banking มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นบวก มีการฟื้นตัวได้ดี แม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุด แต่คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะแตะระดับสูงสุดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยเศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงหนุนจากการเร่งอนุมัติและแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะมีประสิทธิภาพควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยประชากรทั่วโลกกำลังทยอยได้รับวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงกลางปี 2564 และจะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งด้านการค้าขาย การผลิต และการบริโภค สามารถกลับมาเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดในที่สุด



เศรษฐกิจหลักของโลก อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะฟื้นตัวได้ดี หนุนจากการค้าโลกที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการการคลังของหลายประเทศที่มีขนาดใหญ่ และออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสหรัฐฯ ที่เน้นออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยล่าสุด คณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ได้เสนอแผน “American Rescue Plan” ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับนโยบายการเงินในสหรัฐฯ ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำถึงปี 2566 รวมถึงมีการซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงินต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดยังคงสูง โดยมาตรการกระตุ้นในองค์รวมจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคการบริโภค







จากข้อมูลข้างต้น สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลจาก IMF ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะโตกว่า 5% ในปีนี้ จากที่หดตัวมากกว่า 4% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการต่อสู้ระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นกับความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้รัฐบาลของ ปธน.ไบเดน ระดับดอกเบี้ยนโยบายและการสื่อสารของภาครัฐเกี่ยวกับความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยกดดันเงินเฟ้อในระยะยาว







สำหรับยอดตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อจะมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากขีดความสามารถในการตรวจโรคเชิงรุกที่ทำได้ดีมากขึ้น นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าเชื้อโรคจะกระจายตัวได้น้อยลง เนื่องจากอากาศจะร้อนขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม และถึงแม้ว่าความกังวลเรื่องโรคโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว ยังมองว่านโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ถึงปลายปี 2564 ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดการลงทุน







กลยุทธ์การลงทุน (Investment Strategy) โดย ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director - Private Banking Business Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

Lombard Odier มีความเห็นตรงกับ KBank Private Banking ที่มองว่ามีโอกาสลงทุนที่ดีในช่วงจังหวะนี้ ด้วยกลยุทธ์การลงทุนสำคัญที่ยังยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง หรือที่เรียกว่า “Stay Invested + Stay Diversified” โดยแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภทผ่านกองทุนรวม และให้ลดการถือเงินสดไว้ในพอร์ตการลงทุน ดังนี้


พันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรจะดูไม่น่าดึงดูดในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่ดี โดยนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรในหลายประเทศ เช่น จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น

หุ้นกู้บริษัทเอกชน เป็นทางเลือกลงทุนที่ดีเพื่อเพิ่มผลตอบแทน โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกู้ในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการคัดกรองเลือกบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีอัตราผิดนัดชำระหนี้ต่ำ


หุ้น ที่มีแนวโน้มเติบโตและให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2564 จากการคาดการณ์ความสำเร็จของวัคซีนที่เข้าใกล้ความจริง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการคลังและการเงินที่อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัว






ทั้งนี้ คาดว่ากระแสการสลับกลุ่มหุ้นที่ลงทุนไปยังกลุ่มหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ (Cyclical) จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วย Megatrends ที่สำคัญๆ เช่น Technology และ Healthcare ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดได้ในระยะยาว



นอกจากนี้ Lombard Odier ยังให้ความสำคัญมากกับหุ้นกลุ่ม CLIC (Circular, Lean, Inclusive, Clean) ซึ่งเป็นการเน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงเน้นลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงการเท่าเทียมกันของสังคม เพื่อสอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงเช่นเดียวกัน



สำหรับหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะจีน จะสามารถสร้างผลตอบแทนดีต่อเนื่อง เพราะนอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแล้ว การกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีนก็สามารถทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ มาก รวมถึงประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่คาราคาซังก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากชัยชนะของนายโจ ไบเดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งประเทศในเอเชียที่เชื่อมโยงกันทางการค้า



อีกสินทรัพย์ที่ขาดไม่ได้คือทองคำ ที่มักทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงให้พอร์ตโดยเฉพาะยามตลาดผันผวนและสุดท้ายสำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการสภาพคล่อง สามารถล็อกระยะเวลาลงทุนได้นาน การลงทุนใน Fixed Maturity Product หรือ FMP (กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาที่มีการกระจายในหุ้นกู้ต่างประเทศหลายๆ บริษัท) Private Debt (ตราสารหนี้บริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์) Private Equity (หุ้นบริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์) รวมทั้ง Hedge Fund ในบางกลยุทธ์ ก็จะช่วยลดความผันผวนระยะสั้นและสร้างความมั่งคั่งให้พอร์ตระยะยาวได้ดีเช่นกัน



What’s Next? โดย คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย



เช่นเดียวกับมุมมองจาก Lombard Odier ธนาคารกสิกรไทยยังแนะนำให้ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง ยึดหลักการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงและการบริหารพอร์ตการลงทุนเชิงรุก สำหรับมุมมองการลงทุนปัจจุบันที่ว่า “Cautiously optimistic in risk assets” คือมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและหุ้นกู้เอกชน แต่ก็ระมัดระวังในการเลือกใช้กลยุทธ์ โดยรวมมองว่าปี 2564 นี้ตลาดการลงทุนจะยังสดใส แม้จะท้าทายมากขึ้นเพราะราคาหุ้นหลายกลุ่มเพิ่มขึ้นมากในปีที่ผ่านมา สำหรับพอร์ต K-Alpha ที่แนะนำลูกค้า ยังคงหลักการของพอร์ตหลัก (Core) + พอร์ตเสริม (Satellite) โดยให้ความสำคัญและน้ำหนักที่มากขึ้นกับกองทุนในกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะสร้างความเติบโตให้กับมูลค่าพอร์ตการลงทุน โดยแบ่งเป็นธีมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น



Winner of new economy หรือ ผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่นกลุ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ



Health is Wealth หรือการรักษาสุขภาพคือความมั่งคั่งใหม่ ผ่านการลงทุนกลุ่ม Healthcare และนวัตกรรมทางการแพทย์ ทั่วโลก


Save the World หรือเทรนด์รักษ์โลก ที่ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด


The Rise of China and Asia หรือ สินทรัพย์ในจีนและภูมิภาคเอเชีย ที่จะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น


Laggard and Cyclical Upturn เช่น หุ้นในภูมิภาคหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงในปีที่แล้ว และราคายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งกลุ่มที่ผลประกอบการจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก


ถึงแม้การลงทุนในหุ้นรายตัวบางตัวอาจสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่น แต่การลงทุนในกองทุนรวมซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหลากหลายบริษัท มีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญคัดสรร วิเคราะห์ ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยปรับพอร์ตการลงทุนตามธีมที่สอดคล้อง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการลงทุนในธีมใหม่เหล่านี้มักต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ


นายจิรวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนที่นำเสนอ และจะพยายามสร้างผลงานให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ ที่แม้จะเจอวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดทั้งปี ยังสามารถพาพอร์ตการลงทุนของลูกค้าเติบโตได้ที่ระดับ +11.4% ภายใต้ระความเสี่ยง (ค่าความผันผวน) เพียง 7.7% ซึ่งนับว่าความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นโลกภายใต้วิกฤตเดียวกัน เพราะการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวอยู่บนความเสี่ยงที่สูงกว่าและกระจุกตัวมากกว่า




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad




Pages