อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนภายใต้ พรบ.ต่างด้าวในไทย - Thailand Smart Content

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, January 30, 2020

อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนภายใต้ พรบ.ต่างด้าวในไทย






ม.ค.63 มีการอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนภายใต้ พรบ.ต่างด้าวในไทย 25 ราย

มีเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 912 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 260 คน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2563 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติลงทุนภายใต้ พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 25 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 912 ล้านบาท และส่งเสริม ให้เกิดการจ้างงานคนไทย 260 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบกันสั่นสะเทือนสำหรับรถจักรยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Cargowise เพื่อการจัดการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขึ้นรูป การอบร้อน และการพ่นชุบเคลือบสีของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 14 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสก๊อตแลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 678 ล้านบาท อาทิ

·บริการรับจองระวางเรือหรือระวางเครื่องบินสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลและ ทางอากาศ

·บริการฝึกอบรมวิธีการซ่อมแซม การบำรุงรักษารถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่

·บริการให้คำปรึกษา แนะนำและบริหารจัดการงานด้านการตลาด ด้านธุรการ ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการตรวจสอบควบคุมภายใน

·กิจการตัวแทนในการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า





2. ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และอินโดนีเซีย มีเงินลงทุนจำนวน 35 ล้านบาท ได้แก่

·การค้าปลีกอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

·การค้าส่งรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบ

·การค้าส่งชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือน (Damper) สำหรับรถจักรยานยนต์

·การค้าส่งไอศกรีม โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์นม

3. คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ และเบลเยี่ยม มีเงินลงทุนจำนวน 161 ล้านบาท ได้แก่

·บริการจัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการก่อสร้างโรงแรม

·บริการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำและแอ่งจอดเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือ

4. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท อาทิ

·บริการให้คำปรึกษาแนะนำทางวิศวกรรม บำรุงรักษา ซ่อมแซม รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์

·บริการเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

·บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน อาคารสำนักงานและอาคารเก็บสินค้าบางส่วน รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ใช้สำหรับทดสอบสีและเคมีภัณฑ์

·บริการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง และบริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็น ของตัวเอง



ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2563 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน คิดเป็นร้อยละ 4 โดยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ธุรกิจที่ส่งเสริมตลาดทุน รวมถึงประกอบธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad




Pages