พาณิชย์ เร่งกระตุ้นภาคการเกษตรเปิดหลักสูตรเร่งรัด “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”
อัพสกิลเกษตรกรไทยขายออนไลน์ ตรงถึงผู้บริโภค ฝ่าวิกฤตโควิด – 19
อัพสกิลเกษตรกรไทยขายออนไลน์ ตรงถึงผู้บริโภค ฝ่าวิกฤตโควิด – 19
13 พฤษภาคม 2563 - กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนออกมาตรการช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านการส่งออกและทักษะการขายบนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ภายใต้การสัมมนาหลักสูตร “Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” พร้อมติดอาวุธ 2 เรื่องสำคัญให้กับเกษตรกรไทย ได้แก่ 1)การให้ความรู้ด้านการส่งออกเบื้องต้นสำหรับเกษตรกรเพื่อผลักดันการส่งออก และ2)การผลักดันเกษตรกรเข้าสู่การค้าออนไลน์ที่เหมาะสม การจัดสัมมนานี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2563 ณ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน
หนึ่งในนโยบายและแผนงานที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์ คือ การเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเร่งสนับสนุนการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้จัด โครงการสัมมนาหลักสูตร “Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” ในรูปแบบออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันชาวนาและเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ ให้ได้เรียนรู้เรื่องการส่งออก จากการที่ได้รับทราบถึงปัญหาของชาวนาและเกษตรกรไทยรุ่นใหม่นั้น พบว่ากลุ่มดังกล่าวมีความต้องการที่จะรับทราบความรู้เบื้องต้นในการส่งออก เนื่องจากที่ผ่านมาชาวนาและเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ได้มีการส่งออกบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทราบวิธีการส่งออกที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องของขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆ ที่จำเป็น รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการค้าออนไลน์อย่างครบวงจร พร้อมยกระดับให้ก้าวสู่การค้าระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วยหลักสูตรที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมด้วยแนวทางการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งยังมีการเรียนรู้แนวทางจากกูรูด้านเกษตรและการค้าออนไลน์กับแนวทางการแปลงร่างให้เกษตรกรไทยผันตัวสู่ “Smart Farmer” ที่ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 100 ราย จากจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ครอบคลุมเกษตรกรจากกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป (อาทิ ผงข้าวชงพร้อมดื่ม, ซีเรียลจากข้าว, ไอศกรีมผลไม้ ฯลฯ) กลุ่มสินค้าข้าว (อาทิ ข้าวหอมมะลิ, ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวเหนียว กข.6 ฯลฯ ) กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ (อาทิ ผู้เลี้ยงสุกร, ผู้เลี้ยงไก่) กลุ่มสินค้าผลไม้และผัก (อาทิ มะม่วง, ผักสวนครัว) และกลุ่มสินค้าอื่นๆ (อาทิ ผ้าพื้นเมืองที่ทำด้วยไหม, น้ำซอส ฯลฯ)
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานในสังกัดจึงได้มีการเร่งรัดจัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการจัดโครงการ“Thai Fruits Golden Months : ไทยช่วยไทย ชาวสวนอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าไปขายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของไทย ได้แก่ Thailandpostmart, Shopee, Lazada, JD Central, Jatujakmall, Cloudmall, The Hub Thailand และ Octorocket.asia ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวแล้ว
สำหรับด้านตลาดต่างประเทศ ได้ปรับแผนและภารกิจในการกระจายผลไม้ โดยปรับรูปแบบกิจกรรมต่างๆ จากรูปแบบเดิมเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้ไทย และเร่งรัดการส่งออกผลไม้เชิงรุก โดยจะร่วมมือกับ Tmall (จีน), Bigbasket (อินเดีย), Khaleang.com (กัมพูชา), Aeon (ญี่ปุ่น), Amazon (สิงคโปร์และสหรัฐฯ) และ Lotte (เกาหลีใต้) เป็นต้น รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์กับเว็บไซต์พันธมิตรในตลาดอาเซียน จีน และยุโรป และเพิ่มกิจกรรมเจรจาธุรกิจผ่านทางออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้จัดทำหลักสูตรส่งเสริมศักยภาพและผลักดันผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพให้ก้าวเข้าสู่การค้าออนไลน์ยุคใหม่และการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเติมองค์ความรู้ที่จำเป็น เช่น การส่งออก การใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือในการค้าขาย เพื่อช่วยเปลี่ยนเกษตรกรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรยุคดิจิทัลได้ในอนาคต
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ www.nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp หรือ Call Center 1169
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ที่ www.nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp หรือ Call Center 1169
No comments:
Post a Comment